สปสช.ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงแรมแกรนด์เบลล่าพัทยา

สปสช.ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงแรมแกรนด์เบลล่าพัทยา หลังผู้ว่าเมืองชลมีมติให้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เตรียมเปิดใช้ 9 เมษายนนี้

          วันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์เบลล่า เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ผู้แทนจากสำนกงานสาธารณะสุขจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เจ้าหน้าที่จากเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่จากจากโรงพยาบาลบางละมุง ร่วมประชุมเพื่อหารือประเด็นการเตรียมความพร้อม ใน การดำเนินการจัดตั้งโรงแรมแกรนด์เบลล่าให้เป็นโรงพยาบาลสนามเอกชนแห่งแรกของจังหวัดชลบุรี หลังจากที่ทางโรงแรมได้เสนอตัวให้ใช้สถานที่ของโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนามในการดูแลรักษาอาการผู้ป่วยโควิด - 19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น กรณีดังกล่าวทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบ คุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี  จึงได้พิจารณาอนุมัติให้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อเก็บตัวและเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งในการดำเนินการจัดตั้งให้โรงแรมแกรนด์เบลล่าเป็นโรงพยาบาลสนามนั้นจะต้องได้รับการตรวจ สอบในเรื่องของความพร้อมจากกองทุนส่งเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่ามีความพร้อมหรือไม่

            สำหรับหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความพร้อมของโรงพยาบาลสนามตามเกณฑ์ของกองทุนส่งเสริมหลักประกันสุขภาพนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ อาทิ ระบบระบายอากาศ,ระบบบำบัดน้ำเสีย,ระบบการจัดการขยะ, ระบบขนส่งผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งในวันนี้ คณะกรรมการ สปสช.ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เข้าสู่ระบบและหลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลสนามที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้หากพบว่ามีการปรับปรุงไม่มากนักก็จะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในวันที่ 9 เมษายนนี้ โดยจะมีห้องพักรองรับทั้งสิ้น 134 ห้อง ในเฟสแรก ขณะที่หลักการในการนำคนไข้เข้ามาพักเพื่อเฝ้าระวังนั้นจะต้องเป็นคนไข้ที่มีอาการไม่มากนักหรือคงที่ประมาณ 80% โดยเมื่อรักษาใน รพ.ของรัฐ และเอกชน เป็นเวลา 7 วันแล้วอาการคงที่ อาการของปอดไม่รุนแรงก็สามารถย้ายผู้ป่วยมานอนพักใน รพ.สนาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐที่มีห้องพักไม่เพียงพอ

            นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ กรมควบคุมโรค จะเตรียมการส่งมอบตู้คัดกรองให้กับเมืองพัทยาจำนวน 2 ตู้ ไว้ใช้เพื่อทำการคัดกรองบุคคลในกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้ในการเก็บตัวอย่างน้ำคัดหลั่ง หรือการทำหัตถการ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการนำตัวอย่างที่ได้ไปดำเนินการตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการที่อีกครั้ง โดยจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สามารถคัดกรองในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงว่าปัจจุบันกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ติดเชื้อแล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้ไปแพร่ระบาดยังกลุ่มอื่นได้อีก ซึ่งหากพบว่ากลุ่มเสี่ยยงดังกล่าวติดเชื้อโควิด – 19 แล้ว   ก็จะดำเนินส่งตัวเพื่อทำการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้จุดคัดกรองดังกล่าวสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้วันละประมาณ 120 เคสด้วยกัน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

กรุณากรอกข้อความ...
Visitors: 168,173