ชลบุรี จัดพิธีวางพวงมาลา น้อมระลึกถึงรัชกาลที่4

ชลบุรี จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

          วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563 นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ศาลตุลาการ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ นักเรียน นักศึกษา และพสกนิกรชาวจังหวัดชลบุรีทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันถวายราชสักการะ น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดี และถวายราชสดุดีน้อมรำลึกพระเกียรติคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพระชลญาณมุนี,ดร. เจ้าอาวาสวัดอุทกเขปสีมาราม (วัดน้ำ) อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่4) ได้มีพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรในรัชสมัยของพระองค์หลายด้าน เช่น ด้วยการปกครอง ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดตั้งตำรวจนครบาลขึ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พร้อมกับทรงจัดตั้งศาลยุติธรรม และโปรดแก้ไขกฎหมาย จำนวน 500 ฉบับ เพื่อให้ทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น ด้านประเพณีและวัฒนธรรม ทรงเข้าใจในความต้องการของประชาชน ว่าต้องการเข้าเฝ้า เพื่อชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดและเปิดเผย พระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกเลิกการบังคับให้ประชาชน ปิดประตูหน้าต่างสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน และให้ประชาชนเข้าเฝ้าได้อย่างทั่วถึง ด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้มากมาย บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ตำนานเรื่องพระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์ เป็นต้น และทรงริเริ่มให้มีกาค้นคว้าศิลาจาคึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่1 ของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย ด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ ขึ้นเป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผน ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตก ในรัชสมัยของพระองค์จึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตำกอย่างกว้างขวางมีการทำสัญญากับต่างประเทสกถึง 10 ประเทศ ทรงยึดนโยบาย “ผ่อนสั้น ผ่อนยาว” มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นประองค์แรกในสมัยรันโกสินทร์ อันทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้ และสุดท้ายด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้า 2 ปี ได้อย่างแม่นยำในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และต่อมาทรงได้รับยอย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 171,644