กรมทางหลวง ประชุมสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการสัมมนาครั้งที่ 3

  

  

  

กรมทางหลวง ประชุมสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการสัมมนาครั้งที่ 3 การพัฒนาจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9

        วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดประชุมสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 3)โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 กับทางประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในการดำเนินโครงการ ณ ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลรูม ชั้น 12 โรงแรมรัตนชล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี 

          โดยโครงการนี้ กรมทางหลวง ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่ง ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมาตามลำดับ โดยทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9(ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ช่วงบางปะอิน-บางพลี เป็นทางหลวงพิเศษที่รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ได้เปิดให้บริการถึงมาบตาพุด นับเป็นเส้นทางหลักซึ่งจะเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมกับประตูของ ประเทศทั้งทางน้ำและทางอากาศ ส่งเสริมและรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastem Economic Corridor) ภายหลังจากการเปิดให้บริการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองดังกล่าวมามากกว่า 20 ปี การเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเพิ่มขึ้น ทั้งที่เปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนเมือง การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเขตอุตสาหกรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของถนนและการใช้ประโยชน์บริเวณทางเข้า-ออกโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ผลจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และกลุ่มผู้ใช้บริการทางหลวงพิเศษในบางพื้นที่อยู่ห่างจากทางเชื่อมจุดทางเข้า-ออก ไม่ได้รับความสะดวก จะต้องเดินทางโดยอ้อมไปบนโครงข่ายถนนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางหลวงพิเศษ และส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่อไป

           เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการดังกล่าว กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอเซีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท อินฟราทรานส์คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9

           ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ กรมทางหลวงจึงได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิจารณาเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะข้อวิตกกังวลต่างๆ ต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นไปประกอบการปรับปรุงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนน้อยที่สุด โครงการการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 171,645