การรถไฟไทย รับขบวนรถไฟดีเซลราง Kiha จาก JR Hokkaido จากญี่ปุ่น


  

  

การรถไฟไทย รับขบวนรถไฟดีเซลราง Kiha จาก JR Hokkaido จากญี่ปุ่น

       การรถไฟฯ นำคณะสื่อมวลร่วมเป็นสักขีพยานตรวจรับ ขบวนรถดีเซลราง Kiha จาก JR Hokkaido จำนวน 17 คัน ที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว มั่นใจมีความคุ้มค่า ช่วยเสริมศักยภาพในการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

           วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมรับขบวนรถดีเซลราง KIHA จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ณ ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บริหารการรถไฟฯ และคณะสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน และเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจขบวนรถโดยสารทั้ง 17 คันอย่างใกล้ชิดก่อนนำมาปรับปรุงเปิดให้บริการ

          นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้มีความร่วมมือกับบริษัท JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ในการส่งมอบขบวนรถดีเซลราง KIHA 183 (คีฮา) จำนวน 17 คัน มาให้กับประเทศไทยฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ขบวนรถไฟดังกล่าวได้ขนย้ายจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย รถมีห้องขับสูง (High Cab) จำนวน 8 คัน รถมีห้องขับต่ำ (Low Cab) จำนวน 1 คัน (KIHA 183) และรถไม่มีห้องขับ (KIHA 182) จำนวน 8 คัน 

          สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟฯ จะขนย้ายรถดีเซลราง KIHA ทั้ง 17 คัน ไปที่โรงงานมักกะสัน เพื่อซ่อมบำรุง โดยให้ฝ่ายการช่างกล ดำเนินการทดสอบสมรรถนะตัวรถ และตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วน ตรวจสภาพของเครื่องยนต์ ทดสอบ และทดลองเครื่องยนต์ รวมถึงการฝึกอบรมการใช้งานของพนักงานรถจักร และพนักงานเทคนิค โดยมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะนำรถดีเซลราง KIHA ทั้งหมด มาเปิดให้บริการเดินรถใน 4 เส้นทาง พร้อมกับเปิดให้ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้สนใจเช่าเหมาขบวนในรูปแบบ Charter Train โดยมี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1. อุดรธานี - หนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว - จีน และประชาชนที่เดินทางระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว 2. นครราชสีมา - ขอนแก่น เพื่อรองรับการบริการในช่วงทางคู่สายขอนแก่นให้มีศักยภาพด้านการเดินทางระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นขนส่งต่อเนื่อง (Feeder) ของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ - นครราชสีมา 3. กรุงเทพ – หัวหิน - สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อทดแทนขบวนรถไฟนำเที่ยวชายทะเลสวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวประจำที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูง โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเดินทาง การท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำ และ4.ขบวนรถท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา ลพบุรี สระบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปากช่อง นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามฤดูกาล เทศกาล หรืออีเวนต์พิเศษต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว

        นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งทางราง การรถไฟฯ ยังได้จัดซื้อรถโบกี้ปั้นจั่นกลจำนวน 3 คัน ขนาดยกได้ไม่ต่ำกว่า 80 ตัน เป็นรถโบกี้คุณภาพสูง ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเยอรมนี มีขนาดกำลังยกไม่ต่ำกว่า 80 ตัน มีคันปั้นจั่นที่ยาว ทำให้ยกรถตกรางในพื้นที่กว้างโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนรถหลายครั้งได้ อีกทั้งสามารถใช้งานบน Electrified Track และในพื้นที่แคบ เช่น อุโมงค์ บนสะพาน ทางคู่ รวมถึงบนพื้นที่ลาดเอียง และยกรถตกรางในอุโมงค์ได้ โดยมีความเร็วเคลื่อนที่ด้วยตัวเองไม่กว่า 20 กม./ชม. สามารถลากจูงทำขบวนได้ที่ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.อีกด้วย

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 171,736