ข่าวประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2567

ข่าวประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี

ระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2567

*************************************************

สาธารณสุข จัดโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

          นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรองโรคและความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชน

          สำหรับโครงการดังกล่าว จังหวัดชลบุรีจัดขึ้นที่โรงพยาบาลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นการให้บริการตรวจคัดกรองรักษา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี 2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม 5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ 6.คลินิกทันตกรรม 7.คลินิกกระดูกและข้อ และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ 038 – 460 333

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

**************************** 

ขอความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน ThaiD (ไทยดี) เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการเข้าถึงบริการ e-Service ของหน่วยงาน

        ด้วยมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 มอบหมายให้คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนำเป้าหมายการขับเคลื่อน การใช้ Digital ID ไปพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนตามเป้าหมายสำคัญ และรายงานผลการดำเนินงาน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบเป็นระยะ ๆ ประกอบกับ กองทุน พัฒนาติจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้สนับสนุนทุนให้กรมการ ปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ThalD (ไทยดี) เพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) รวมถึงการเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification Service - FVS) ทางดิจิทัลเมื่อประชาชนเข้าใช้บริการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ก็สามารถเข้าสู่ ระบบแอปพลิเคชัน ThalD เพื่อยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูล ปัจจุบันเปิดให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ https://www.bora.dopa.go.th/app-thaid/

         ในการนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเกิดการประยุกต์ใช้งานแอปพลิเคชัน ThalD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อย่างแพร่หลายและเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งบรรลุเป้าหมาย ตามแนวทางการขับเคลื่อนบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และให้เป็นไป ในทิศทางเดียวกัน จึงใคร่ขอความร่วมมือหน่วยงานของท่านและหน่วยงานภายใต้สังกัด ในการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน ThalD ของกรมการปกครอง กระทรวงหมาดไทย สำหรับพิสูจน์และยืนยันตัวตนกับบริการออนไลน์ของหน่วยงานของรัฐ (government e-Service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมทั้งภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.bora.dopa.go.th/app-thaid/

ปริญญา/ข่าว

**********************

CPALL เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา มีงานทำช่วงปิดเทอมนี้ 60 อัตรา แบบ Part time

       นางพนิดา จันทวัฒน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ถือเป็นสัญญาณว่าใกล้จะปิดเทอมใหญ่กันแล้ว ซึ่งหลายคนอาจเลือกที่จะพักผ่อนสมองอยู่กับบ้าน สนุกสนานกับการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ แต่สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ต้องการหารายได้พิเศษ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่เป็นประโยชน์อย่างมากเช่นกัน เพราะนอกจากได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระรายจ่ายของครอบครัว ทั้งยังถือเป็นการฝึกวินัยเพื่อก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอีกด้วย

       CPall ได้เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ช่วงปิดเทอมเข้าทำงานแบบ Part time จำนวน 60 อัตรา โดยมีคุณสมบัติดังนี้ เป็นชาย - หญิง อายุ 18 ปีขึ้นไป กำลังศึกษาอยู่ระดับ ชั้น ม.6 – ปวส. – ปริญญาตรี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ดามเหล็ก สามารถเดินทางมาทำงานเองได้ จัดสินค้าอุปโภค - บริโภค ส่งให้กับร้าน 7 – 11 ได้ และสามารถทำงานในอุณหภูมิเย็น ( 0 - 4) องศาได้

        ส่วนรายได้ และสวัสดิการ มีค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน มีเงินพิเศษ 30 – 50 บาทต่อวัน ค่ากะ 25 – 35 ต่อวัน มีชุดยูนิฟอร์มฟรี ข้าวฟรี (work load สูง) มีโอทีชั่วโมงละ 69 บาท(เฉลี่ย 60 – 80 ช.ม. ต่อวัน)

         โดยสมัครได้ที่ศูนย์กระจายสินค้า CPALL ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 091 – 004 – 7451 หรือ 091 – 004 7452

ปริญญา/ข่าว

**************************************************

กรมประมง เตรียมปิดอ่าวไทยตอนกลาง ประจำปี 2567 เพื่อคุ้มครองการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูให้มีโอกาสวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน

           นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงจะใช้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่องการใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณทะเลอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าว) โดยครอบคลุมเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 พฤษภาคม 2567 บริเวณตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้วางไข่ และช่วงที่สองอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 8,100 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 14 มิถุนายน 2567 เพื่อให้ลูกปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโตเดินทางเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก โดยมีการควบคุมการทำประมงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งจากการศึกษาทางวิชาการ พบมาตรการฯ มีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู คือ เป็นช่วงที่ปลาทู มีความสมบูรณ์เพศสูงสุด สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน

        ทั้งนี้ กรมประมงขอขอบคุณชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดมา และเพิ่มความระมัดระวังให้การทำการประมงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเชิญชวนให้ชาวประมงและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมวันประกาศปิดอ่าว ณ บริเวณท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. โดย ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

ปริญญา/ข่าว

******************************************

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เดินหน้าเปิดหลักสูตรใหม่ “ผู้ช่วยพยาบาล” เรียน 1 ปี พร้อมมีงานทำเสริมกำลังคนด้านสุขภาพแห่งยุคเทคโนโลยีสุขภาพ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้

       นางพนิดา จันทวัฒน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี ได้รับแจ้งจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ว่า สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้ดำเนินงานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพ ส่งผลให้ได้รับการยอมรับและความสนใจเป็นวงกว้าง เกิดการขยายผลต่อเนื่อง จึงเดินหน้าเปิดหลักสูตรใหม่ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (Practical Nurse) ระยะเวลาเรียนและฝึกปฎิบัติ 1 ปี สร้างคนสู่การเป็น “ผู้ช่วยพยาบาลนักจัดการ” ที่มีสมรรถนะและทักษะอาชีพตามที่ตั้งไว้ และความสามารถในการดูแลที่มีคุณภาพเหนือความคาดหวัง แห่งยุคเทคโนโลยีสุขภาพ แต่ยังคงไว้การบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งหลักสูตรได้รับการรับรองตามมาตรฐานจากสภาการพยาบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของพีไอเอ็มได้ทันที อีกทั้งหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ได้รับการรับรองจาก ก.พ. ในการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนด

       ผู้ช่วยพยาบาล คือบุคลากรทางการพยาบาลที่เป็นกลไกสำคัญให้การช่วยเหลือการดูแลหน่วยงานในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพทุกระดับ ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลวิชาชีพในการทำงานสอดรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นอาชีพยอดฮิตเหมาะสำหรับผู้สนใจประกอบวิชาชีพสายสุขภาพ เนื่องด้วยเป็นหลักสูตรที่เรียนเพียง 1 ปี และมีงานรองรับ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เรียนได้ตามความเหมาะสมกับเวลาและการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งพีไอเอ็มจะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2567 สามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

        สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Tel. 02-855-1117, 02-855-1118 Website https://ns.pim.ac.th/

Facebook https://www.facebook.com/pimfanpage/ กรอกใบสมัครออนไลน์ https://forms.gle/FFNMiLBUe6M7p3XY9

ปริญญา/ข่าว

***********************************************

รัฐบาลเพิ่มบัตรทอง 30 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์รักษามะเร็ง ‘มะเร็งครบวงจร’         

           โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ มุ่งมั่นเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษามะเร็ง ‘มะเร็งครบวงจร’ เพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก และการดูแลรักษามะเร็ง ให้แก่ผู้ใช้บัตรทอง 30 บาท เพื่อความครอบคลุม ทั่วถึงเท่าเทียม

          เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ปัญหาโรคมะเร็ง และความสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้สิทธิบัตรทองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เพื่อป้องกันและคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งด้วยบริการการรักษาที่มีประสิทธิภาพและการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพิ่มเติม

          โดยรัฐบาลได้บรรจุสิทธิประโยชน์ในการรักษามะเร็งเพิ่มเติม อาทิ บริการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา บริการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและตับอ่อน และท่อน้ำดี ด้วยหุ่นยนต์ และบริการรักษาด้วยรังสีโปรตอน นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการบริการ 2 รายการ เพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเชิงรุก ได้แก่ (1) บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ในผู้หญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ครอบครัวมีประวัติมะเร็งเต้านม ปีละ 1 ครั้ง กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย (2) บริการการตรวจปัสสาวะชุดตรวจพยาธิใบไม้ในตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว ด้วยตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทยทุกสิทธิที่อายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ในตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยตนเอง โดยทั้งสองรายการอยู่ระหว่างการจัดวางระบบให้มีประสิทธิภาพ

          โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย โดยกำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด องค์กรเอกชน และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เป็นหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล หรือหน่วยชีวาภิบาล ในฐานะสถานบริการสาธารณสุขที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

           “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการป้องกันคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร สนับ สนุนให้ผู้ใช้บัตรทอง 30 บาทได้รับการบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมตามเป้าหมายของตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นายชัย กล่าว

            ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถบริหารและตอบสนองต่อแนวนโยบายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้ “บัตรประชาชนใบเดียว ดูแลสุขภาพประชาชน รักษาได้ทุกที่ ทุกโรค”

ปริญญา/ข่าว

***************************************

สถานีตำรวจภูธรหนองขาม จังหวัดชลบุรี ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทราบ กรณีปรากฏ ข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายสมาชิกสมาคมนักรบด่านเถื่อนๆ

         ตามที่ปรากฏข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีที่มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นสมาชิกนักรบด่านเถื่อน ได้เข้ามา ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์สด และได้กระทำการในลักษณะก่อกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าหน้าที่ ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่จึงได้เข้าไปห้ามปรามการกระทำดังกล่าว แต่บุคคลดังกล่าวได้มาแจ้งความว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย นั้น

        จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 23.00 น. ร้อยตำรวจเอก เตชินท์ กอนไธสง รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรหนองขาม พร้อมกำลังเจ้าพนักงานตำรวจ อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่รับผิดชอบ ได้มีกลุ่มบุคคลดังกล่าว แจ้งว่าเป็นสมาชิกของเพจนักรบด่านเถื่อน ได้เข้ามาก่อกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยการใช้กล้องโทรศัพท์มือถือเปิดไฟไลฟ์สด แล้วเดินผ่านกรวยยางแนวเขตเข้าไปด้านในจุดตรวจที่มีผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมนั่งอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เชิญตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ออกไปจากแนวเขต เพราะการไลฟ์สดเป็นการ รบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรบกวนสิทธิ์ของผู้อื่น จากนั้นกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ขอทำการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีอำนาจหรือไม่ ทำตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมกับใช้กล้องที่มีแสงไฟ ที่เปิดจนสว่าง ส่องมาที่ใบหน้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระยะประชิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มือดันกล้องที่มีแสงไฟ จากการไลฟ์สดออกจากหน้าตนเองเพราะแสงไฟส่องเข้าตา ทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ไม่พอใจและร้องเอะอะ โวยวายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายอันเป็นใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการต่อสู้ หรือขัดขวาง เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่, ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการ นั้น

          จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น พันตำรวจเอก เกริกศิษฐ์ เนียมนัตฐ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองขาม ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที และพันตำรวจโทพัฐกร ปิยธิติภูวดล รองผู้กำกับป้องกัน ปราบปราม สถานีตำรวจภูธรหนองขาม ได้รวบรวมพยานหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษ ในฐานะผู้บังคับบัญชา งานป้องกันปราบปราม เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวตามคดีอาญาที่ ๔๓๔/๒๕๖๗ ต่อไป

         ในการนี้ พันตำรวจเอก เกริกศิษฐ์ เนียมนัดฐ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองขาม จึงขอฝาก ประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ให้ทราบว่า ในการดำเนินการตั้งจุดตรวจ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีวัตถุประสงค์ ก็เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่บนถนนหลวง การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว จะต้องโปร่งใส การใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนต้องไม่ติดขัด และสิ่งที่สำคัญการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่การตรวจสอบนั้นจะต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ มิได้มีเจตนาแฝง การตรวจสอบจะต้องเป็นไปในแนวเพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง อันจะทำให้บ้านเมือง มีความเป็นปกติสืบต่อไป

ปริญญา/ข่าว

****************************

สช. ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ สอดรับวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเตรียมประกาศ

       สธ.เล็งปลดล็อกกฎหมายมีบุตรด้วยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ เอื้อกลุ่มคนโสดแต่อยากมีลูก – กลุ่มหลาก หลายทางเพศ ชี้สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ 

        นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ. 2506 – 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน การลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และ ปี พ.ศ.2565 อยู่ที่ 1.16 โดยเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน มีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวด ล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ

       ดังนั้น  หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20 – 24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60 – 64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น มีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

        กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตรการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสดสาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

        ศาสตราจารย์ เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์กล่าวว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน  ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

        ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการใน 2 เรื่องหลักที่ต้องการให้สำเร็จภายใน 100 วันคือ การผลักดัน ประเด็น ส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และ การมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร กรมอนามัย จึงกำหนดจัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้บุคลากร 3 กลุ่มหลัก คือ สูตินรีแพทย์พยาบาลและนักเทคนิคการแพทย์ คาดว่าจะสามารถให้บริการกับประชาชนได้ภายในธันวาคม 2566 นี้เป็นต้นไป

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

******************************

Visitors: 177,388