ข่าวประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 15 - 31 พฤษภาคม 2564

ประชาสัมพันธ์ สำนักงานประสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี

โทรศัพท์/โทรสาร 038 - 279448  www.chonburipr.net

ระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤศภาคม 2564

*************************************************************

ขนส่งชลบุรี จัดการประมูลเลขสวย รถกระบะ หมวด  ยค

         นายกนิษฐฐ์ เจียมรุจีกุล ขนส่งจังหวัดชลบุรีขนส่งจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี ได้จัดทำการประมูลหมายเลขทะเบียนรถซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม หรือเลขสวย ของจังหวัดชลบุรี จำนวน 301 หมายเลข ในหมวด ยค ดังนี้ เลขตัวเดียว 1 – 9 เลขสองตัวเหมือนกัน 11 – 99 เลขสามตัวเหมือนกัน 111 – 999 เลขสี่ตัวเหมือนกัน 1111 – 9999 เลขหลักพัน 1000 – 9000 เลขเรียงสามตัว 123 - 789 เลขเรียงสี่ตัว 1234 – 6789 เลขคู่เหมือนกัน 1100 – 9988 เลขคู่หาม 1001 – 9889 และเลขคู่สลับ 1010 – 9898

          สำหรับการประมูลครั้งนี้  ใช้สำหรับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ในหมวดอักษร ยค ซึ่งใช้พิธีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทาง (www.tabienrod.com) โดยเปิดการประมูลในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ปิดการประมูลในวันที่ 12 มิถุนายน 2564 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

          ผู้ที่สนใจสามารถสมัครลงทะเบียนการประมูลครั้งนี้ ได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (www.tabienrod.com) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี สำนักงานขนส่งสาขาอำเภอบางละมุง สำนักงานขนส่งสาขาอำเภอหนองใหญ่ และสำนักงานขนส่งสาขาอำเภอศรีราชา หรือโทรศัพท์มาที่ 095 – 4843131 และ 038 - 278967 หรือ www.chonbuir.dlt.go.th หรือสายด่วน 1584

ปริญญา/ข่าว

*********************************************

ปศุสัตว์ ติดตามสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ

         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์ และแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีน และได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า กรมปศุสัตว์ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือของเกษตรกรนั้น ต้องขอชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตั้งแต่พบว่า โคเนื้อของเกษตรกรที่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด มีอาการป่วยคล้ายกับโรคลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจนมีผลยืนยันในช่วงปลายเดือนมีนาคมว่าโคป่วยด้วย โรคลัมปี สกินจริง ช่วงรอผลตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนั้นได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและแก้ไข เข้มงวดการเฝ้าระวัง และมาตรการป้องกันและควบคุมโรค กรณีสงสยโรคลัมปี สกิน เป็นต้น โดยในการดำเนินการนั้นได้รายงานให้      

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกรตามมาตรการการช่วยเหลือ และขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายท้องถิ่นที่ช่วยดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหนะของโรคลัมปี สกิน

         จากสถานการณ์การเกิดโรคล่าสุด ปัจจุบันพบใน 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย จำนวน 7,200 ตัว ตาย 53 ตัว และที่สำคัญสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการกระจายหรือการระบาดเพิ่มในจังหวัดใหม่ ดังนั้น ขอฝากถึงเกษตรกร หากมีข้อสงสัย หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-225-6888 หรือแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชั่น DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวของ ได้ที่ เว็บไซต์

https://sites.google.com/view/dldlsd/home

ปริญญา/ข่าว

********************************

ประกันสังคม หนุนนโยบายรัฐ รมว.แรงงาน “สุชาติ” พร้อมร่วมกระจายฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเขตพื้นที่ กทม. เริ่ม มิ.ย.นี้

          รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่ง และมีความเสี่ยงในอาชีพที่ต้องสัมผัส ต้องเจอคนจำนวนมาก อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมการฉีดวัคซีนให้กับ กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยให้บูรณาการร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน โดยจะพร้อมเริ่มต้นฉีดตั้งแต่ ต้นเดือน มิ.ย.64 เป็นต้นไป

          ด้าน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการ เตรียมความพร้อมเร่งกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ทั่วถึงอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี โดยให้สำนักงานประกันสังคม บูรณาการร่วมกับภาคเอกชนทุกภาคส่วน และ สปสช. กลุ่มผู้ประกันตนเสี่ยงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ส่งขอมูลให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไปแล้ว สำหรับในด้านการบริหารจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระยะแรก โดยจะเริ่มดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน ในต้นเดือนมิถุนายน 2564 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง ได้ประสานไปยังสถานประกอบการให้ส่งข้อมูลรายชื่อผู้ประกันตนที่ต้องการฉีดวัคซีน ผ่านระบบ Web-Service โดยมีผู้ประสงค์ฉีดทั้งหมดมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ พร้อมจัดหาสถานที่เพื่อฉีดวัคซีน ในขณะนี้ 45 แห่ง โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ในการฉีดวัคซีน พร้อมแพทย์ พยาบาลในสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว ในระยะถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2564 จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจ อีก 22 แห่ง จากนั้นจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

          เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและควบคุมโรคด้วยการฉีดวัคซีน ให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบได้กลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็ว ประกอบกิจการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

ปริญญา/ข่าว

***************************************

ครม. ช่วยนายจ้าง/ผู้ประกันตน ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เห็นชอบลดอัตราเงินสมทบ เหลือร้อยละ 2.5 ผู้ประกันตน ม.39 เหลือเดือนละ 216 เริ่มเดือน มิ.ย.-ส.ค. นี้

          นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติม เรื่อง การกำหนดอัตรา เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ..... เพื่อปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้จัดเก็บนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 จากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 216 บาท ตั้งแต่งวดเดือน มิถุนายน - สิงหาคม 2564 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบ ในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท คาดว่า จะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20,163 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนของกฎกระทรวงดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทัน ภายในกำหนด จึงขอให้นายจ้าง และผู้ประกันตน มั่นใจการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมภายใต้ นโยบายของนายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุดและทันท่วงที เนื่องจากปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้องของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องสำคัญ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

ปริญญา/ข่าว

*******************************************

กระทรวงแรงงาน ประกันสังคม เร่งอัดเม็ดเงิน 30,000 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องการจ้างงานในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

          นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม โดยขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563 – 2564) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม สามารถขอสินเชื่อ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่ม ผลผลิตแรงงาน ทั้งนี้ สถานประกอบการสามารถขอรับสินเชื่อได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ สำหรับระยะที่ 2 นี้ สถานประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2561- 2563 มาแล้ว หากประสงค์จะยื่นขอสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารเดิม วงเงินที่เคยได้รับสินเชื่อ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อตามโครงการนี้ต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ โดยอายุสินเชื่อตามโครงการนี้มีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะ 2 นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี และคงที่ 3 ปี สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ

          เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการนำไปติดต่อขอยื่นกู้ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัจจุบันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ

สามารถพิมพ์หนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อ “ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)” หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุน ทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ปริญญา/ข่าว

***************************************

Visitors: 171,757