คณะอนุกรรมาธิการ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับ EEC

  

  

คณะอนุกรรมาธิการ ลงพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

       วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานในคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ บริษัท แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์(ประเทศไทย) ต.คลองตำหรุ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

        นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานในคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร พบว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ดังกล่าว แม้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม แต่ก็มีมิติของผลเชิงบวกเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือทางการแพทย์ ด้านอาหาร ธุรกิจการค้าขายทางออนไลน์ เป็นต้น

       ในขณะที่ประเทศไทย ได้มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor :EEC) โดยมี 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อรองรับปัญหาที่ประเทศได้รับส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคโควิด19 จะมีความต้องการแรงงานใน EEC (ปี 2564 - 2568) อยู่ที่ 564,176 อัตรา (ห้าแสนหกหมื่นสี่พันกว่าคน) มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริม ตามร่างแผน EEC ระยะที่ 2 (ประมาณวงเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) โดยเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ดังนี้

          1. ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (มูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปี) ได้แก่การลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนผลิตแบตเตอร์รี่ยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 2. ด้าน 5G อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ (มูลค่า 50,000 ล้านบาทต่อปี) ได้แก่การลงทุนโรงงานอัจฉริยะโดยใช้ประโยชน์จาก 5G การลงทุนด้านข้อมูลขนาดใหญ่และศูนย์ข้อมูลและการลงทุนแพลตฟอร์มการบริการด้านข้อมูล เป็นต้น 3. ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่และสุขภาพมูลค่าสูง (มูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี) ได้แก่ ศูนย์บริการทดสอบแพทย์จีโนมิกส์ ศูนย์แปลผลเพื่อการรักษาและวินิจฉัยและการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เป็นต้น และ4. ด้านอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ (มูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี) ได้แก่ การขนส่งสินค้า การจัดเก็บสินค้า การให้บริการพิธีการโลจิสติกส์และการให้บริการพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ เป็นต้น

            นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้ได้มาลงพื้นที่ บริษัท แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย) เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงาน โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์(MARA) ณ จังหวัดชลบุรี เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในหลักสูตรสอดรับกับการพัฒนาของระบบการผลิตสมัยใหม่ สอดรับกับความเห็นของที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการที่ให้ความส าคัญ ต่อประเด็นการนำแรงงานไทยเข้าสู่ระบบ EEC ให้มากที่สุด โดยยึดหลักการดำเนินงานของ EEC เป็นโมเดลหลักนอกจากการลงพื้นที่แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อมาพบปะเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลพี่น้องแรงงาน โดยเฉพาะ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ที่เสมือนเป็นพี่น้องทำงานควบคู่กันมาโดยตลอด

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 171,754