ชลบุรี จัดงานพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ชลบุรี จัดงานพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

       วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนางสุภาพร เทียนไชย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศาลตุลาการ รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ บริเวณหน้าโถง ชั้น1 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

       ตามคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2532 เห็นชอบในหลักการให้กำหนดวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2532 กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุชัดว่า วันสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ผ่านมาแล้ว 334 ปี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เห็นชอบให้วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

       ในการนี้ จังหวัดชลบุรี ได้จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ประธานในพิธีได้กล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีใจความว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2175 - พ.ศ. 2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" มีที่มาน่าสนใจคือ มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ ถึง 4 ครั้งด้วยกัน

        นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย  ด้านวรรณกรรมในสมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 172,331