ชลบุรี ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ไฟไหม้ Mountain B

 

  

  

ชลบุรีแถลงผลการดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ไฟไหม้ Mountain B สัตหีบ พร้อมปิดศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือฯ ก่อนปิดศูนย์ฯ

        เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานปิดศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ไดรับผลกระทบจากกรณีเพลิงไหม้ ร้านเมาแทน บี จังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุม ชั้น2 องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

       จากกรณี ไฟไหม้ ผับ MOUNTAIN B สัตหีบ ชลบุรี เมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ (5 ส.ค.65) นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีคำสั่ง จัดตั้งศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณี เพลิงไหม้ ร้านเมาเท่น บี จังหวัดชลบุรี ขึ้น ณ หอประชุม ชั้น ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง เพื่อบูรณาการหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมา โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้รับมอบหมายให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

         และสถานการณ์ดังกล่าว มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 4 ราย ยอดผู้บาดเจ็บปัจจุบัน 40 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยสีแดงใส่ท่อช่วยหายใจ 20 ราย ผู้ป่วยสีเหลือง 11 ราย และผู้ป่วยสีเขียว 9 ราย เหลือผู้บาดเจ็บที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดชลบุรี และใกล้เคียง 19 แห่ง จำนวน 31 ราย

         ในการนี้ จังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับคำร้อง และให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ มีผลการปฏิบัติ ดังนี้ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมดรวม 15 ราย รับลงทะเบียนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งหมด 40 ราย กำหนดจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาประจำจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และมีกำหนดจ่ายเงินให้ทายาทผู้เสียชีวิตในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะได้รับเงิน รายละ 110,000 บาท

           สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วทั้งหมดรวม 15 ราย ได้ส่งเรื่องให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแล้วในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 หากได้รับการอนุมัติจะมียอดจ่ายเงินกรณีผู้เสียชีวิตรายละ 80,000 บาท

           เทศบาลเมืองสัตหีบ ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมดรวม15  ราย ลงทะเบียนผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย ซึ่งทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 29,700 บาท หากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเงินเพิ่มอีกรายละ  29,700 บาท นอกจากนี้ยังจ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวอีกรวมเป็นเงิน 216,000 บาท รวมจ่ายเงินทั้งสิ้น 1,017,900 บาท มีกำหนดจ่ายเงินให้ญาติผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2565

         สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกันตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตน 5 ราย เคยเป็นผู้ประกันตน 5 ราย ได้ติดต่อญาติเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมแล้วทั้งหมด 10 ราย และตรวจสอบผู้บาดเจ็บเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินประกันสังคม 9 ราย ได้ติดต่อเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม แล้วทั้ง 9 ราย โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ณ วัดป่ายุบ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.รง. ได้มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.รง. มอบสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกัน สังคมและกฎหมายเงินทดแทนแก่ทายาทของนายวิริยะ แต่งสง่า ผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,082,711.46 บาท

         สำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี ได้ตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตที่ได้ทำประกันภัยไว้ 9 ราย ได้ติดต่อเพื่อให้เข้าถึงสิทธิตามกรมธรรม์แล้วทั้ง 9 ราย ทั้งนี้ ได้มีกำหนดจ่ายค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 จำนวน 4 ราย ดังนี้ (1) รายนายกรวิทย์ เม็งคำมี จำนวนเงิน 120,000 บาท เวลา 16.00 น. ณ วัดสัตหีบ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เดินทางไปเป็นสักขีพยานในการมอบค่าสินไหมทดแทน (2) รายนางสาววาทินีย์ หุยทุมาล จำนวนเงิน 150,000  บาท ที่จังหวัดขอนแก่น (3) ราย จ.อ.วรากุล จำรัส จำนวนเงิน 770,000 บาท และ จ.อ.สมรัฐ หินเธาว์ จำนวนเงิน 2,090,000 บาท จ่ายให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในพื้นที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอรับความช่วย เหลือแล้วทั้งหมดรวม 15 ราย ลงทะเบียนผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ รายละ 10,000 บาท และเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมกรณีฉุกเฉิน อีกรายละ 3,000 บาท รวมผู้เสียชีวิตจะได้รับเงิน 13,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บจะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมกรณีฉุกเฉิน รายละ 3,000 บาท

         องค์กรสาธารณกุศลที่มีกำหนดจ่ายเงินให้ญาติผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ดังนี้ (1) มูลนิธีสว่างโรจนธรรมสถาน มอบเงินรายละ 20,000 บาท (2) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบเงินรายละ 20,000 บาท (3) ศาลเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ มอบเงินรายละ 2,000 บาท

         นอกจานี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสัตหีบ จัดทีมประเมินช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทั้งที่มารับบริการที่ศูนย์ฯ และพื้นที่บริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุแล้ว 81ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสี่ยงต่อภาวะการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต (สีเหลือง) จำนวน 46 ราย สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดชลบุรี และสภาทนายความจังหวัดชลบุรี ได้จัดพนักงานอัยการ ทนายความและเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 และสิทธิอื่น ๆ ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 16 ราย

         และในวันนี้ได้ทำการปิดศูนย์ฯ และติดตามการช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อผู้ได้รับผลกระทบหรือทายาทเพื่อให้เข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ทั้งหมดแล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ จึงกำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม 2565 เป็นวันหยุดการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือที่ศูนย์ฯ โดยจังหวัดชลบุรี จะตั้งคณะทำงานติดตามการช่วยเหลือดังกล่าว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะทำ งาน มีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ 0 3827 8031 – 2 เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อไป

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 172,848