ท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับซีเอ็นเอ็นซี จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ

  

  

  

ท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับซีเอ็นเอ็นซี จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มประมงและชุมชน

        วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง เป็นประธานเปิดโครงการกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มทรัพยากรทางทะเล ณ บริเวณกลุ่มประมงต้นแบบ-บ้านนาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีนางสาวลัลลิฬา จิตร์สม ผู้อำนวยการโครงการร่วม นายชัยวัฒน์ พรเศรษฐคุณ  ผู้จัดการโครงการ เข้าร่วม

       นายชุย จี้จง ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) กล่าวว่ากิจกรรมครั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังร่วมกับกิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี (CNNC Joint Venture) ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2566 วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โดยการปล่อยลูกปูม้า (ระยะแรกฟัก) จำนวน 15 ล้านตัว และพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำ จำนวน 5 แสนตัว

       โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 สถานีวิจัยประมงศรีราชา กลุ่มประมงบ้านนาเกลือ กลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง กลุ่มประมงบ้านโรงโป๊ะ หมู่ที่ 3  กลุ่มประมงบ้านบางละมุง กลุ่มประมงอนุรักษ์ปากคลองบางละมุง กลุ่มประมงบ้านแหลมฉบัง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักเรียนและชุมชนบริเวณใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 180 คน

        สำหรับกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลบริเวณพื้นที่โครงการฯ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA จึงจัดให้มีกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยจะจัดกิจกรรมหมุนเวียนไปยังกลุ่มประมงทั้ง 6 กลุ่มรอบพื้นที่โครงการฯ ตลอดระยะเวลาการก่อสร้างโครงการฯ”  สำหรับความสำเร็จของการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะการปล่อยลูกปูม้ามีข้อมูลทางวิชาการระบุว่าหากมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตของลูกปูม้าจะทำให้มีอัตรารอดมากถึง10 % และแม้ว่าจะมีปัจจัยการมีชีวิตไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนักก็จะมีอัตรารอดไม่น้อยกว่า 1% และเมื่อเทียบกับการปล่อยครั้งละหลายล้านตัว ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณของทรัพยากรปูม้าให้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 177,079