บีโอไอ จัดงาน MIRA และ SUBCON EEC 2023

 

  

  

  

 

 

 

บีโอไอ ผนึกความร่วมมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) และซับคอน จัดงาน MIRA และ SUBCON EEC 2023 เปิดเวทีจับคู่ธุรกิจ พบผู้ซื้อรายใหญ่ เสริมแกร่งผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC

       วันพุธที่ 6 กันยายน 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการแสดงศักยภาพและแสดงสินค้า S-CURVE ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) โดยมีนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานร่วม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก

         บีโอไอ ผนึกความร่วมมือ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ซับคอน) และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) เปิดตัวงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation) และ SUBCON EEC 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ ผลักดันเป้าหมายให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและจัดซื้อชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน” เสริมแกร่งผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซียกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คาดว่าจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 600 คู่ สร้างมูลค่าการเชื่อมโยงธุรกิจกว่า 2,000 ล้านบาท ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี 

        นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า บีโอไอ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcontracting Promotion Association) และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) ได้ร่วมจัดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation) และ SUBCON EEC 2023 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 โดยมุ่งเป้าให้เป็นงานเดียวที่รวบรวมเอาสินค้า โซลูชั่น และบริการอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดงอย่างครบวงจรอีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนโดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา และจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนเพื่อระดมความคิดด้านการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภายในประเทศ

       สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างตลาดและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) เพราะเราตระหนักดีว่า ในการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ EV อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติ หัวใจสำคัญคือ การมี Supply Chain ที่ครบวงจรและเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้ไทยมีขีดความ สามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกด้วย บีโอไอจึงมีนโยบายและการจัดกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติ สามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด อีกทั้งผู้ผลิตเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะ จนมีขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทชั้นนำมากมาย เราจึงมองเห็นโอกาสในการผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs ไทย เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกอีกด้วย

          นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้นำการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เราทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง EEC ผ่านการจัดงาน MIRA และ SUBCON EEC 2023 ร่วมกับหน่วยงานชั้นนำในการส่งเสริมการลงทุนอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ซับคอน)  โดยครั้งนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือเป็นงานแสดงงานเดียวที่รวบรวมเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ โซลูชันอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ พร้อมงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจที่ครบวงจรที่สุดในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจไทยให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

         สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในภาคอุตสาหกรรมมาจัดแสดงกว่า 150 ราย พร้อมกันนี้ยังได้รวบรวมการประชุมและสัมมนาในหัวข้อสำคัญๆ อาทิ การเสวนาหัวข้อ“จากกระบวนการผลิต สู่การเลือกใช้ระบบอัตโนมัติที่เหมาะสม” และ A Case Study of Prompt Engineering for Industrial Cybersecurity using ChatGPT และที่พลาดไม่ได้คือ โซนเทคโนโลยีพิเศษ MIRA x FIBO ที่ผู้จัดงานได้ร่วมมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำสามเทคโนโลยีพิเศษมาจัดแสดง ได้แก่ 1.“มดบริรักษ์” หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิดที่สามารถนำแนวคิดไปต่อยอดในการจัดการ 2.CHESS ROBOT กิจกรรมการเล่นหมากรุกระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์เล่นหมากรุกสากล และ 3.Interactive Virtual Aquarium ที่สามารถสร้างสรรค์ปลาที่มี character เฉพาะตัวของผู้ชมงานแต่ละคนปล่อยลงสู่ Virtual Aquarium ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 5,000 คน ทุกภาคส่วนมองตรงกันว่าเวทีนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการร่วมสร้างหมุดหมายใหม่ในการลงทุนให้กับภาคเศรษฐกิจไทย

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 177,148