ศรชล เสนอแผนมั่นคงและผลประโยชน์ชาติทางทะเล ปี 66 70

 

  

  

  

ท้าทายใหม่! ศรชล. ไฮบริดจ์ 'มั่นคง-ยั่งยืน' รับเทรนด์ 'เศรษฐกิจสีน้ำเงิน' ชงเสนอแผนมั่นคงและผลประโยชน์ชาติทางทะเล ปี 66 - 70 

           วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จังหวัดชลบุรี ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 1/2566 โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และรอง ผอ.ศรชล. เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตํารวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมประชุม

ทั้งนี้ นับเป็นการประชุมรูปแบบสัญจรนัดแรกของปี 2566 ตามนโยบายผู้บังคับบัญชา ศรชล. เริ่มต้นจากพื้นที่ ศรชล.ภาค 1 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 แสน ตร.กม. ในเขต 11 จว.ชายทะเล ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมพร

           ผลงานล่าสุด ศรชล.ภาค 1 สนธิกำลังร่วมกับ ทรภ.1 จับกุมเรือ "ธนสิทธิ์" ที่ลักลอบบรรทุกน้ำมันเบนซินเถื่อนกว่า 7 แสนลิตร เข้ามาบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นการสกัดกั้นขบวนการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนเข้ามาในราชอาณาจักรล็อตใหญ่อีกครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีผลจับกุมได้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงการเข้าช่วยเหลือเหตุเรือบรรทุกน้ำมันเตา "สมูธซี 22" ขนาด 2,996 ตันกรอส ระเบิดขณะจอดซ่อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ที่ จ.สมุทรสาคร ช่วงต้นปี 66 ยังได้เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบนเรือสำราญ MEIN SCHIFF 5 วัย 73 ปี ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เหตุเกิดกลางทะเลอ่าวไทย ลำเลียงขึ้นฝั่งส่งตัวถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที และอีกหลายเหตุการณ์ที่สามารถตอบโต้สถานการณ์ภัยคุกคามทั้ง 9 ด้าน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           #แผนรองรับ 'บลูอีโคโนมี' ที่ประชุมหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนงานร่วมกันของหน่วยงานหลักทั้ง 7 ศร ที่มีประสิทธิภาพ โดย ศรชล. ได้เสนอร่างแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ที่มี 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย

         กลยุทธ์ 1 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการบูรณาการด้านความมั่นคง          

           กลยุทธ์ 2 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มุ่งเน้นการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ

          กลยุทธ์ 3 การบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเล และการสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานทางทะเล และ

          กลยุทธ์ 4 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางทะเล และด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มุ่งเน้นการบริการประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน

           #จัดประชุม SEAMLEI ในช่วงปลายเดือน เม.ย.66 ศรชล. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) จัดการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาตามกรอบความริเริ่มการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 9 (9th SEAMLEI CF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหา หรือประเด็นความท้าทายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ ศรชล. ได้พัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางและในระดับภูมิภาค และสอดคล้องกับภารกิจ ศรชล. และแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี ศรชล. (พ.ศ.2566 - 2570)  

              #IMO ชื่นชม 'ไทย' โดดเด่น สาระสำคัญการประชุมที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ผลการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ระหว่างวันที่ 20 - 27 ก.พ.66 ทางคณะผู้ตรวจประเมินจาก IMO ได้แสดงความชื่นชมว่า ประเทศไทย มีระบบการปฏิบัติงานที่โดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับข้อบกพร่องของเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ (Aids to Navigation : AtoN) ทำให้สามารถซ่อมบำรุงเครื่องหมายการเดินเรือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2.การนำระบบบูรณาการข้อมูลกิจการทางทะเล (Thai Integrated Shipping Information System : THISIS) มาใช้ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และกำกับดูแลการดำเนินการตามตัวชี้วัด (KPI) ทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.การนำระบบแลกเปลี่ยนข่าวสารความปลอดภัยทางทะเล (MSI Platform) มาใช้ในการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเล โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของไทย อาทิเช่น กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ กรมอุตุนิยมวิทยา สถานีวิทยุ Bangkok Radio และ ศรชล. ทำให้การให้ข้อมูลมีความเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของ IMO และ 4.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ซึ่งปฏิบัติงาน 24 ชม. ในการเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือ การป้องกันการเกิดมลพิษทางน้ำ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

          อย่างไรก็ดี การดำเนินการข้างต้น IMO จะนำไปเป็นต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการดำเนินการตรวจประเมินประเทศสมาชิกของ IMO ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อปฏิบัติอันเป็นเลิศ (best practice) ระหว่างกันต่อไป

“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 176,810