สคร 6 ชลบุรี เตือนปีนี้ ไข้เลือดออก รุนแรง

สคร.6 ชลบุรี เตือนปีนี้ ไข้เลือดออก รุนแรง ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดตามตัว สงสัยไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์

       สคร.6 ชลบุรี เตือนประชาชน เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากปีนี้ภาคตะวันออก พบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ระบาดรุนแรง ป้องกันได้โดย ยึดหลัก “3 เก็บ 3 โรค” และหากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดตามตัว สงสัยไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์

      แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ประจำปี 2566 ว่า มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 26 ต.ค. 2566  พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 119,465 ราย เสียชีวิต 122 ราย สูงกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3.4 เท่า พื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 หรือภาคตะวันออก ล่าสุด พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 17,460 ราย สูงกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน 5.48 เท่า ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน ผู้เสียชีวิต จำนวน 26 ราย โดยพบในจังหวัดระยอง จำนวน 7 ราย จังหวัดชลบุรี จำนวน 6 ราย จังหวัดจันทบุรี จำนวน 5 ราย จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 4 ราย จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 2 ราย จังหวัดตราด จำนวน 1 ราย และจังหวัดสระแก้ว จำนวน 1 ราย สำหรับจังหวัดปราจีนบุรียังไม่พบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิต ได้รับการรักษาโรคไข้เลือดออกล่าช้า การใช้ยาแก้ปวด ลดไข้ ชนิด NSAIDs

         เนื่องจากโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทั้งนี้หากมีไข้สูงมากกว่า 2 วัน ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่น หน้าแดง ปวดท้อง หรือท้องเสีย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว หากเข้ารับการรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะช็อกทำให้การดูแลรักษายากยิ่งขึ้น กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หากป่วยจะทำให้มีโอกาสอาการรุนแรงได้

       แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผอ.สคร.6 ชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้มียุง เริ่มต้นที่บ้านของตนเอง ตามหลัก “3 เก็บ 3 โรค” ได้แก่ การเก็บบ้าน ให้สะอาด ปลอดโปร่งไม่เป็นแหล่งเกาะพักของยุงลาย เก็บน้ำ คือ ดูแลภาชนะน้ำใช้ และภาขนะขังน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ และการเก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งยุงลาย ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพราะยุงลายเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ 7 วันเช่นกัน ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลายชอบกัดเวลากลางวัน และเป็นยุง ที่มักอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้ยุงกัด แล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่น สำหรับร้านขายยา และคลินิก ขอความร่วมมือห้ามขายและจ่ายยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวด ลดการอักเสบ และลดไข้ชนิดรุนแรง (กลุ่ม NSAIDs)  ให้กับผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออก ควรแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

     

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 177,228